วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โครงเรื่อง

  โครงเรื่อง
             สำหรับนิทานเวตาลเรื่องที่๑๐ ที่เป็นฉบับบภาษาไทย  เดิมได้เรียบเรียงเป็นร้อยกรอง ชื่อ ลิลิตเพชรมงกุฎ โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่ถอดมาเพียงเรื่องแรกเท่านั้น (เรื่องพระวัชรมกุฎกับพุทธิศรีระ) ภายหลังพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. ได้ทรงแปลจากฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษของริชาร์ด ฟรานซิส เบอร์ตัน จำนวน 9 เรื่อง และจากสำนวนแปลของ ซี.เอช. ทอว์นีย์ อีก 1 เรื่อง ทำให้ฉบับภาษาไทยของ น.ม.ส. มีนิทานเวตาลทั้งหมด 10 เรื่อง

         พระวิกรมาทิตย์ผู้ซึ่งเป็นกษัตริย์มีปัญญาและอานุภาพเมื่อ๒,๕๐๐กว่าปีมาแล้ว รับปากกับโยคีศานติศีลว่าจะนำตัวเวตาลที่ต้นอโศกจากป่าช้าแห่งหนึ่งมาให้ พระวิกรมาทิตย์กับพระโอรสธรรมธวัชจึงได้เดินทางไปนำตัวเวตาลมา ทุกครั้งที่พระเจ้าวิกรมาทิตย์จับเวตาลได้ มันจะหลอกล่อพระองค์โดยเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะจบด้วยคำถาม และพระองค์ก็อดรนทนไม่ได้ ต้องตอบคำถามนั้นทุกครั้งไป ทำให้เวตาลหนีกลับไปยังต้นไม้ได้ดังเดิม


นิทานเวตาลเรื่องที่ สิบ

นิทานเวตาลเรื่องที่ สิบ

  ความเป็นมา
             ต้นเค้าของนิทานเวตาลมาจากวรรณกรรมสันสกฤตโบราณ เรื่อง เวตาลปัญจวิงศติ (สันสกฤต: वेतालपञ्चविंशति แปลว่า นิทานเวตาล 25 เรื่อง) ซึ่งเล่าขานโดยกวีชื่อ ศิวทาส และได้ถูกเล่าขานกันต่อมากว่า 2,500 ปีล่วงมาแล้ว โครงเรื่องหลักของนิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องการโต้ตอบตอบปัญหาระหว่างพระวิกรมาทิตย์ กษัตริย์แห่งกรุงอุชชิยนี กับเวตาล ปีศาจที่มีร่างกายกึ่งมนุษย์กับค้างคาว ซึ่งจะนำเข้าไปสู่นิทานย่อยต่างๆ ที่แทรกอยู่ในเรื่องนี้รวม 25 เรื่อง ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับนิทานอาหรับราตรี หรือ "พันหนึ่งราตรี" ซึ่งเป็นนิทานชุดในซีกโลกอาหรับที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกชุดหนึ่ง

ตัวละครหลัก

                                                                       ตัวละครหลัก
 เวตาล

เวตาลเป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง  คล้ายค้างคาวผี  เป็นวิญญาณร้ายที่วนเวียนอยู่ตามสุสาน และคอยเข้าสิงอยู่ในซากศพต่างๆ มันจะทำร้ายมนุษย์ที่เข้าไปรบกวน เหยื่อของเวตาลจะถูกเข้าสิง ทำให้มือและเท้าหันไปข้างหลังเสมอ  เวตาลยังทำให้ผู้คนเป็นบ้า ฆ่าเด็ก และแท้งลูก แต่เวตาลยังมีข้อดี คือมันจะคอยดูแลหมู่บ้านของมันเอง ลักษณะของเวตาล จะมีลูกตาสีเขียวเรือง ๆ ผมสีน้ำตาล หน้าที่น้ำตาล ตัวผอม  เห็นซี่โครงเป็นซี่ๆ ห้อยเอาหัวลงมาทำนองค้างคาว  แต่เป็นค้างคาวตัวใหญ่ที่สุด  เมื่อจับถูกตัวก็เย็นชืดเหนียวๆ เหมือนงู  ปรากฏเหมือนหนึ่งว่าไม่มีชีวิต  แต่หางซึ่งเหมือนหางแพะนั้นกระดิกได้  เวตาลเป็นอมนุษย์ที่ช่างพูดและมีความสามารถสูงยิ่ง ในการใช้โวหารเพื่อเสียดสี  เยาะหยัน  และยั่วยุอารมณ์ผู้ฟัง 

พระวิกรมาทิตย์

               พระราชาพระองค์นี้ส่วนใหญ่จะรู้จักในนาม "พระวิกรมาทิตย์" หรือ "พระเจ้าจันทรคุปต์ วิกรมาทิตย์"  พระนาม "วิกรมาทิตย์" เป็นพระสมัญญานามที่เรียกขานกษัตริย์หลายพระองค์ มิใช่แต่พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 เท่านั้น อย่างไรก็ตามพระนามนี้เป็นที่รู้จักกันดีเนื่องจากวรรณกรรมภาษาสันสกฤตอันโด่งดังเรื่องนิทานเวตาลได้ใช้พระนามนี้เป็นตัวละครหลักในเรื่อง
       พระวิกรมาทิตย์ทรงเป็นพระราชาที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในราชวงศ์คุปตะ เพราะพระองค์สามารถเอาชนะชาวสากะและสามารถรวบรวมดินแดนทางตะวันออกและทางเหนือไว้ในอำนาจได้ โดยพระองค์ได้ทรงเปลี่ยนเมืองหลวงจากกรุงปาตลีบุตรไปยังเมืองอุชเชนี พระองค์ทรงสนับสนุนศิลปะและวิทยาการแขนงต่างๆ ทำให้อารยธรรมอินเดียในช่วงนี้มีความเจริญสูงสุด พระองค์ยังได้รับพระสมัญญานาม "มหาราช" อีกด้วย

สาระสำคัญ

                                                                      สาระสำคัญ
               กรุงธรรมปุระ  มีพระชาทรงนามท้าวมหาพล  มีพระมเหสีซึ่งเป็นสาวไม่รู้จักแก่  และมีพระราชธิดาที่เปรียบได้ดุจพี่กับน้องมากกว่าแม่กับลูก ต่อมาเกิดศึกขึ้นที่กรุงธรรมปุระ  ท้าวมหาพลพ่ายแพ้ พาพระมเหสีและพระราชธิดาหนีออกจากเมืองเพื่อไปยังเมืองเดิมของพระมเหสี  ถูกพวกภิลล์ซึ่งเป็นโจรปล้น  พระราชาต่อสู่จนสิ้นพระชนม์  พระมเหสีและพระราชธิดาพากันหนีออกจากหมู่บ้านโจรจนหมดกำลัง  ท้าวจันทรเสนและพระราชบุตรเสด็จออกล่าสัตว์มาพบรอยเท้าพระมเหสีและพระราชธิดา จึงอนุมานว่านางที่มีรอยเท้าเล็กคงเป็นสาวน้อย  รอยเท้าใหญ่คงเป็นสาวใหญ่จึงตกลงทำสัญญาแบ่งนาง    และได้ทำการวิวาหะกลับคู่กันไป  ต่อมาบุตรและธิดาก็เกิดจากนางทั้งสอง   และบุตรและธิดาแห่งนางทั้งสองก็มีบุตรและธิดาต่อ ๆกันไป
              เวตาลตั้งคำถามแก่ท้าววิกรมาทิตย์ว่า  ลูกท้าวจันทรเสนที่เกิดจากธิดาท้าวมหาพล  และลูกมเหสีท้าวมหาพลที่เกิดกับพระราชบุตรท้าวอินทรเสนนั้น  จะนับญาติกันอย่างไร   ท้าววิกรมาทิตย์ไม่ทรงตอบปัญหาเพราะจนด้วยพระปัญญา  จึงทรงรีบพาเวตาลไปส่งให้แก่โยคี

ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง

                                                         ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
                หากมนุษย์รู้จักใช้ปัญญาคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วยและรอบด้าน แม้ปัญหาจะยากเย็นซับซ้อน เพียงใดก็สามารถแก้ไขหรือทำความเข้าใจได้เสมอ  แต่การใช้ปัญญาเพียงอย่างเดียวมิอาจแก้ปัญหาทุกสิ่งได้เสมอไป  มนุษย์ต้องมีสติกำกับปัญญาของตนด้วยการใช้สติปัญญาควบคู่กันไป   คือหลักสำคัญในการนำมนุษย์ไปสู่ความสำเร็จ  อีกทั้งคำพูดของมนุษย์มีความสำคัญยิ่ง  เพราะคำพูดเป็นสิ่งที่ต้องรักษาดังนั้นหาพูดออกมาโดยมิได้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองให้รอบด้านเสียก่อน ก็จะนำหายนะหรือปัญหาซึ่งยากจะแก้ไขมาสู่ตนได้   ความกล้าหาญมุ่งมั่นและความเพียรเป็นคุณลักษณะที่น่าชื่นชม